RSS

Tag Archives: นักวิชาการสาธารณะ

จิตร ภูมิศักดิ์ นอกคอกนักวิชาการ…..เกษียร เตชะพีระ


(เมื่อ 10 ปีก่อน ผู้เขียนได้ไปร่วมอภิปรายในงานสัมมนา 72 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ ที่คณะ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน บันทึกคำอภิปรายดังกล่าวค่อนข้างหายากในสื่อสาธารณะ ขณะที่เนื้อหาคำอภิปรายเกี่ยวกับสภาพเงื่อนไขและชะตากรรมของปัญญาชนผู้เลือก ออกนอกวงวิชาการและเข้าสู่ขบวนปฏิวัตินั้นยังอาจน่าสนใจขบคิดวิเคราะห์ต่อไป บ้างเพื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในแวดวงปัญญาชนและนักวิชาการปัจจุบันจึง ใคร่ขอนำมาเผยแพร่ใหม่ในคอลัมน์นี้)

ผมขอแบ่งการอภิปรายออกเป็น 5 หัวข้อคือ: –

1) ความไม่เป็นนักวิชาการของจิตร

2) คอกนักวิชาการที่จิตรแหก

3) บริบทของการแหกคอก

4) คอกปัญญาชนปฏิวัติ

5) บทสรุปจากในคอก

1) ความไม่เป็นนักวิชาการของจิตร

หัวข้อสัมมนาที่ผู้จัดตั้งไว้ว่า “จิตร ภูมิศักดิ์ นักวิชาการนอกคอก” ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของเพื่อนคนหนึ่งนานมาแล้ว คือคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว อดีตนักกิจกรรมนักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นใกล้เคียงกัน และปัจจุบัน (พ.ศ.2545) เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน สุพจน์เคยกล่าววิพากษ์วิจารณ์ความพยายามของนักวิชาการเสรีนิยมกลุ่มหนึ่งที่มีอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรื้อฟื้นและเน้นความสำคัญงานเขียนเชิงวิชาการของจิตรสมัยปี พ.ศ.2518-2519 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เช่นเรื่อง ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชน ชาติ (พ.ศ.2519) ว่าเป็นการ “ทำให้จิตรเป็นแค่นักวิชาการ”

เอาเข้าจริงฐานะอาชีพ “นักวิชาการ” เป็นสิ่งผิดยุคผิดสมัย (anachronism) สำหรับจะมาพูดถึง จิตร, ในพุทธทศวรรษที่ 2490 เมื่อจิตรเติบโตตื่นตัวทางการเมืองนั้น คำว่า “นักวิชาการ” ยังไม่ทันมี ด้วยซ้ำไป, คำนี้เพิ่งจะมีและฐานะอาชีพนี้เพิ่งจะก่อตัวปรากฏชัดเจนเป็นกลุ่มก้อนในสังคมไทยตามแวดวงมหาวิทยาลัยก็ในพุทธทศวรรษที่2500 ซึ่งตอนนั้นจิตรก็ติดคุกแล้ว, คำที่แพร่หลายและนักคิดนัก เขียนนักศึกษาหัวก้าวหน้าสมัยพุทธทศวรรษที่ 2490 ใช้เรียกตนเองคือ “ปัญญาชน” (ย้อนหลังไป เคยใช้คำ “ผู้รู้หลักนักปราชญ์” และ “ชนพื้นเมืองผู้มีปัญญา” มา ก่อนที่จะลงตัวที่คำว่า “ปัญญาชน” ) เช่นนี้แล้ว “นักวิชาการ” จึงไม่น่าจะอยู่ในหัวจิตรและไม่ใช่อะไรที่เขาคิดจะเป็น, เขาไม่ใช่ “นักวิชาการ นอกคอก” เท่ากับอยู่ข้างนอก “คอกนักวิชาการ”, อย่างไรก็ตาม ก็น่าสนใจที่เราจะลองใช้จินตนาการ ทางประวัติศาสตร์ หยิบความเป็น “นักวิชาการ” ส่องกลับไปดูจิตร, พร้อมทั้งหยิบแบบอย่างชีวิตของ จิตรมาย้อนมองดูแวดวง “นักวิชาการ” ปัจจุบัน-ว่าเราจะเห็นและเข้าใจอะไรได้บ้าง?

จิตรเป็นนักวิชาการแน่ไม่ต้องสงสัย ทั้งโดยผลงานและวิชาชีพ เขาเคยเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, ผู้ช่วยวิจัยของ ดร.วิลเลียม เก็ดนีย์ นักภาษาศาสตร์อเมริกัน, อาจารย์พิเศษสอนภาษาอังกฤษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ครูโรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์และโรงเรียนกวดวิชาเทเวศร์ศึกษา, นักศึกษาปริญญาโทสถาบันวิจัยเรื่องเด็กของยูเนสโกในวิทยาลัยประสานมิตร บางกะปิ, ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ และไม่โดนไล่ออกจากมหาวิทยาลัยด้วยข้อหาการเมืองเสียก่อน, ป่านฉะนี้ เขาอาจได้เป็นศาสตราจารย์เกษียณอายุ หรือศาสตราจารย์กิตติคุณ หรือศาสตราพิชาญทางภาษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชาติพันธุ์วรรณนา ไทยคดีศึกษา ฯลฯ, กระทั่งอาจเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัย, ไม่ก็กรรมการหรือนายกสภามหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่ง

แต่จิตรไม่ได้เป็นแค่นักวิชาการ, เขามีทั้ง “ความเป็นนักวิชาการ” และ “ความไม่เป็นนักวิชาการ” อยู่ในตัว, และเอาเข้าจริง ที่คนรุ่นหลังรวมทั้งนักวิชาการสนใจเขาเป็นพิเศษ ให้ความหมายความสำคัญ แก่ชีวิตและผลงานของเขาเป็นพิเศษ ก็ตรง “ความไม่ได้เป็นแค่นักวิชาการ” หรือ ความที่อยู่ข้างนอก “คอกนักวิชาการ” ของเขานี่เอง

ทำไมนักวิชาการในคอกอย่างเราๆ ท่านๆ จึงสนใจคนนอกคอกที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการเต็มร้อย ทั้งตัว, คนที่เป็นนักวิชาการแล้วยังเที่ยวไปแหกคอกล้ำเส้นเพ่นพ่านเล่นนอกบท เป็นอะไรต่อมิอะไร อย่างอื่นที่ไม่ใช่นักวิชาการ, หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคนนอก “คอกนักวิชาการ” ผู้นี้?

ตอบ: – ก็เพราะเขาเคยเป็นคนหนึ่งในวงวิชาการเรา เขาสามารถที่จะเป็นคนหนึ่งในหมู่นักวิชาการเรา ความสามารถทางวิชาการของเขากระทั่งเหนือล้ำกว่าพวกเราหลายคน แต่เขากลับเลือกที่จะแหกคอก ที่จะจากไปและทิ้งเราไว้เบื้องหลัง เขาเลือกที่จะไม่เป็นแค่นักวิชาการเยี่ยงเรา, มันชวนสนเท่ห์ว่าทำไม?

กล่าวอีกนัยหนึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นบุคลาทิษฐานหรือสัญลักษณ์ตัวแทนแห่งความเป็นไปได้ นอกคอกที่มีเสน่ห์เย้ายวนใจ, กวักมือเรียกนักวิชาการในคอกอย่างเราอยู่ไหวๆ ตลอดเวลา

2) คอกนักวิชาการที่จิตรแหก

อะไรคือคอกนักวิชาการที่จิตรแหกไป? ผมคิดว่ามี 3 คอก ได้แก่คอกที่แยกนักวิชาการออกจากสัจธรรม, ประชาชน และการเมืองต่อต้านระบบ กล่าวคือ: –

2.1)คอกที่แยกความเป็นนักวิชาการจากสัจธรรม 

เพราะนักวิชาการไม่มีหน้าที่แสวงหาสัจธรรมทั้งหมด (the whole truth) หากมีหน้าที่แสวงหาสัจธรรมเพียงบางส่วน (partial truth) เท่าที่สอดคล้องกับอำนาจนำทางอุดมการณ์ (hegemony) ในวงวิชาการและสถานภาพนักวิชาการของตน; จิตรเลือกที่จะแหกคอกนี้ไปเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้า ปัญญาชนฝ่ายซ้าย หรือคอมมิวนิสต์

ผลลัพธ์ก็คือหนังสือมหาวิทยาลัยประจำปี พ.ศ.2496 ที่เขาร่วมเขียนและเป็นสาราณียกรถูกผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเซ็นเซอร์, เขาถูกนำตัวขึ้น “ศาลเตี้ย” ไต่สวนกลางหอประชุมใหญ่ จุฬาฯ, ถูกนิสิตวิศวะกลุ่มหนึ่งตัดสินลงโทษโดยพลการด้วยการจับ “โยนบก” จนสลบ แล้วมิหนำยังถูกทางมหาวิทยาลัยทำโทษพักการเรียนจนถึงปี 2498

2.2)คอกที่แยกความเป็นนักวิชาการจากประชาชน

เพราะนักวิชาการไม่มีหน้าที่สอน, เรียนและสร้างสรรค์องค์ความรู้รับใช้ประชาชนทั้งหมด (all people) หากมีหน้าที่สอน, เรียนและสร้างสรรค์องค์ความรู้รับใช้คนในสังคมบางกลุ่มเป็นหลัก (some people) เท่าที่สอดคล้องกับโครงสร้างชนชั้นในสังคมและฐานะชนชั้นของตน; จิตรเลือกที่จะแหกคอกนี้ไปเป็นปัญญาชนสาธารณะ (public intellectual) ผลิตเผยแพร่งานเขียนเพื่อประชาชนคนยากคนจน

ผลลัพธ์คือเขาถูกคณะปฏิวัติของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จับติดคุกลาดยาว 6 ปี (21 ตุลาคม พ.ศ.2501-30 ธันวาคม พ.ศ.2507) อันเป็นการแยกปัญญาชนเยี่ยงเขาออกจากสาธารณะอย่างเด็ดขาด แม้เขายังสามารถอ่านคิดค้นเรียนเขียนแปล ผลิตผลงานศิลปะวรรณกรรมก้าวหน้าเพื่อประชาชน และดำเนินชีวิตคอมมูนกับสหายในคุก ทว่างานของเขาเหล่านั้นไม่มีโอกาสปรากฏต่อสาธารณชน ประชาชนไม่ได้สัมผัสรับรู้ ผลของมันแม้ไม่ใช่เป็นการประหารชีวิตเขาให้ถึงแก่ความตายจริงๆ แต่ก็เท่ากับเป็นการประหารเขาให้ตายไปจากสาธารณะทางการเมืองวัฒนธรรม ซึ่งสำหรับปัญญาชนสาธารณะคนหนึ่งแล้ว มันก็คือความตาย คือการถูกยุติบทบาทปัญญาชนสาธารณะลงนั่นเอง

2.3)คอกที่แยกความเป็นนักวิชาการจากการเมืองต่อต้านระบบ

เพราะนักวิชาการไม่มีหน้าที่นำความรู้ความเชี่ยวชาญของตนไปท้าทายหรือเปลี่ยนแปลงระบบสังคม หากมีหน้าที่นำความรู้ความเชี่ยวชาญของตนไปเข้าหาหรือไปเป็นเครื่องมือผ่านอำนาจในระบบ ดังที่เป็นอยู่เท่าที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบการเมืองเศรษฐกิจวัฒนธรรมของสังคม และการรักษาสร้างเสริมอำนาจของตนในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ; จิตรเลือกที่จะแหกคอกนี้ไปเป็นปัญญาชนปฏิวัติ เข้าป่าจับปืนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ.2508

ผลลัพธ์คือ เขาถูกเจ้าหน้าที่ราชการยิงตายในชายป่าบ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2509

3) บริบทของการแหกคอก

จิตรเลือกแหกคอกนักวิชาการในบริบทของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างชาติ นิยมไทยสองกระแส-อันมีที่มาจากลัทธิสากลนิยมสองสายในระดับสากล-ซึ่งก่อตัว ขึ้นในการเมืองวัฒนธรรมไทย ช่วงพุทธทศวรรษที่ 2490 ได้แก่: –

3.1)ชาตินิยมฝ่ายซ้ายซึ่งเกี่ยวโยงสืบเนื่องกับลัทธิสากลนิยมคอมมิวนิสต์

ชาตินิยมฝ่ายซ้ายแห่งพุทธทศวรรษที่ 2490 เป็นผลของการเคลื่อนไหวก่อกบฏทางปัญญา ความคิดและการเมืองวัฒนธรรมขนานใหญ่ มีการเสนอบทวิพากษ์ประวัติศาสตร์นิพนธ์และศิลปะ วรรณคดีศักดินา, รวมทั้งปรัชญาและเศรษฐศาสตร์การเมืองทุนนิยม-เสรีนิยม-ปัจเจกชนนิยมอย่างขุดรากถอนโคน

บทวิพากษ์ดังกล่าวมีที่มาจากกระบวนการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมข้ามชาติและจากเมืองสู่ชนบท คร่าวๆ ดังนี้คือ: –

[ปัญญาชนผู้มีการศึกษารู้สองภาษาหรือมากกว่า ทั้งในและนอกพรรคคอมมิวนิสต์ แปลงานเขียนและศัพท์แสงลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์จากภาษาจีนและอังกฤษให้เป็นไทย] –>

[นักคิดนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ประพันธ์ผลงานวรรณกรรมนานาชนิดอันปรุงแต่งขึ้นด้วยภาษาวาทกรรมแปลดังกล่าวและแปรมันเป็นสินค้า วางจำหน่ายเผยแพร่ในตลาดสิ่งพิมพ์และผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมทุนนิยม] –>

[สินค้าและวาทกรรมเหล่านี้เข้าถึงมือนักศึกษาปัญญาชนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นเบื้องแรก แล้วแพร่หลายต่อไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ] –>

[ในที่สุดนักศึกษาปัญญาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองจากวาทกรรมมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ก็แทรกซึมเข้าสู่พื้นที่ชนบทอันกว้างขวางของประเทศ นำมันไปเผยแพร่ต่อแก่ชาวนาชาวไร่และชนชาติส่วนน้อยกลุ่มต่างๆ ซึ่งเป็นประชากรส่วนข้างมากของชาติ]

วาทกรรมฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านเผด็จการทหาร-จักรวรรดินิยมอเมริกา-ศักดินา ก็เกิดขึ้นท่ามกลางกระบวนการที่ว่านี้และค่อยก่อตัวเป็นประชาชาตินิยมฝ่าย ซ้ายซึ่งท้าทายชาตินิยมของเผด็จการทหารและราชาชาตินิยมของคณะเจ้าแต่เดิม

ดังจะเห็นได้ว่านี่เป็นยุคบุกเบิกงานแปลต้นตำรับลัทธิ มาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ของมาร์กซ, เองเกลส์, เลนิน, สตาลิน, เหมาเจ๋อตุง เป็นไทย, เป็นยุคสร้างสรรค์งานประวัติศาสตร์และวรรณกรรมฝ่ายซ้าย อาทิ ไทยกึ่งเมืองขึ้น ของ พ.เมืองชมพู (อุดม สีสุวรรณ), “โฉมหน้าที่แท้จริงของศักดินาไทย ในปัจจุบัน” ของ สมสมัย ศรีศูทรพรรณ (จิตร ภูมิศักดิ์), แลไปข้างหน้า ของ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์), ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ (ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์), “ข้อไม่น่าศึกษาทางการประพันธ์” และ “ข้อคิดจากวรรณคดี” ของ อินทรายุธ (อัศนี พลจันทร), “เศรษฐีวิทยา” ของ ผู้ยิ่งน้อย (สมัค บุราวาศ) อีกทั้งงานเชิงปรัชญา กาพย์กลอน เพลง บทละคร ภาพยนตร์จำนวนมาก

3.2)ชาตินิยมฝ่ายขวาซึ่งเกี่ยวโยงสืบเนื่องกับลัทธิสากลนิยมแอนตี้-คอมมิวนิสต์

ลัทธิสากลนิยมแอนตี้-คอมมิวนิสต์ถูกนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรโลกเสรี (เช่น อังกฤษ, ฟิลิปปินส์) อย่างเอาการเอางานต้นพุทธทศวรรษที่ 2490 พร้อมอิทธิพลทางการเมืองกับความช่วยเหลือในรูปดอลลาร์และอาวุธในยุคสงครามเย็น (นับแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองถึงราว พ.ศ.2534) และสงครามเกาหลี (พ.ศ.2493-2496), แล้วกลายมาเป็นนโยบายของรัฐไทย

อย่างไรก็ตาม ในฐานะวาทกรรมการเมือง ลัทธิแอนตี้-คอมมิวนิสต์ก็ถูกชนชั้นนำฉวยใช้ไป เล่นงานปรปักษ์ในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันในเกมอำนาจแบบไม่เลือกอุดมการณ์ เช่น กรณีฆาตกรรมคุณเตียง ศิริขันธ์ กับพวกเมื่อ พ.ศ.2495 เป็นต้น

วาทกรรมแอนตี้-คอมมิวนิสต์นี้ได้ผสานหลอมรวมเข้ากับชาตินิยมแบบเชื้อชาตินิยม-รัฐนิยม-ทหารนิยมของเผด็จการทหาร และกับราชาชาตินิยมของคณะเจ้า, กลายเป็นชาตินิยมฝ่ายขวาแอนตี้-คอมมิวนิสต์ที่ยึดถือสถาบันชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ และอุดมการณ์ “ความเป็นไทย” เป็นแกน และได้กลายเป็นพื้นฐานทางอุดมการณ์ของรัฐราชการไทยสืบมา

และในพุทธทศวรรษที่ 2490 นี้เองที่เราได้เห็นงานวรรณกรรมลือเลื่องของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เอกอัครปัญญาชนสาธารณะของฝ่ายอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยม ได้แก่นวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน ซึ่งพุ่งเป้าวิพากษ์โจมตีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และ ไผ่แดง ซึ่งมุ่งล้อเลียนคอมมิวนิสต์ไทย

ในสงครามการเมืองวัฒนธรรมนี้ จิตรเลือกอยู่ข้างชาตินิยมฝ่ายซ้ายแบบคอมมิวนิสต์, แหกคอกชาตินิยมฝ่ายขวาแอนตี้-คอมมิวนิสต์, จึงจ่ายค่าตอบแทนถูกโยนบก ติดคุก, เขาเลือกที่จะดำเนินชีวิตตามสัจธรรมที่เขาเชื่อเคียงข้างประชาชนคนชั้นล่างในขบวนการปฏิวัติ

จิตรเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่ไม่เป็น, จิตรมีความเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่ไม่มี, จิตรมีความสามารถและผลงานทางวิชาการที่ดีเด่น คู่ควรแก่การยอมรับนับถือทางวิชาการ, แต่ทั้งหมดนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขา, สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขาอยู่นอกคอกนักวิชาการออกไป, และแน่นอนเขาเลือกสิ่งนั้น

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน มิถุนายน 9, 2012 นิ้ว บทความ

 

ป้ายกำกับ: ,